วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี54 เปิดด่านถาวรรับเป้าส่งออก 1.1 ล้านล้าน

นับถอยหลังอีก 4 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมรับกติกาใหม่นี้ เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า แรงงาน กลายเป็นตลาดเดียว ทั้งอาเซียน


โอกาสของประเทศไทยก็คือ "การขยายตลาด" ในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมต่ออาเซียนและจีน สามารถเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งภาคการส่งออก และการค้าชายแดน  นโยบายกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้า เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนภายใน 1-2 ปีนี้ ให้ได้ปีละ 1.1 ล้านล้านบาท ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง (ACMECS)
และยุทธศาสตร์ ลิมอดาซาร์ 5 จังหวัด 5 รัฐ 5 สาขาเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย รวมถึงการเปิดประตูการค้าทั้ง 5 ภาค 5-5-5 ลิมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐ และห้าสาขาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่าง 5 จังหวัดของไทยกับ 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ใน 5 สาขาเศรษฐกิจ  ก็มีกิจกรรม เช่น การจัดทำบัตร Lima Dasar Card, การส่งเสริมการท่องเที่ยวยะลากับเกาะลังกาวีร่วมกัน, การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในมาเลเซีย มีการเจรจาการค้าและการลงทุนกว่า 90 โครงการ เช่น ฟาร์มแพะ และ การซื้อผลผลิตปาล์ม เป็นต้น

ดันยอดส่งออกโต 32%

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สรุปมูลค่าการค้าชายแดน ปี 2553 (ม.ค.-ธ.ค. 53) รวมทั้งสิ้น 778,061 ล้านบาท เพิ่ม 21.74% (ม.ค.-ธ.ค. 52 มูลค่า 639,136 ล้านบาท) การส่งออกรวม 486,488 ล้านบาท ขยายตัว 32.88% การนำเข้ารวม 291,573 ล้านบาท เพิ่ม 6.80% การ เกินดุลการค้าสะสมมีมูลค่าถึง 194,915 ล้านบาท

แบ่งเป็น การค้าชายแดน 4 ตะเข็บ คือ
1.ไทย-มาเลเซีย มูลค่า 497,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.48% แบ่งเป็น สินค้าส่งออก 320,404 ล้านบาท นำเข้า 177,186 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 143,218 ล้านบาท 


2.ไทย-ลาว มีมูลค่ารวม 87,191 ล้านบาท เพิ่ม 21.6% แบ่งเป็น สินค้าส่งออก 64,117 ล้านบาท นำเข้า 23,074 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 41,044 ล้านบาท
3.ไทย-พม่า มีมูลค่า 137,869 ล้านบาท การส่งออก 50,854 ล้านบาท นำเข้า 87,015 ล้านบาท ไทยเสียดุลการค้า 36,160 ล้านบาทจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 27.03%
4.ไทย-กัมพูชา มูลค่า 55,411 ล้านบาท เพิ่ม 22.12% แบ่งเป็น สินค้าส่งออก 51,113 ล้านบาท นำเข้า 4,298 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 46,814 ล้านบาท

สำหรับสถิติการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก คือ
ด่านศุลกากรสะเดา
ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์
ด่านศุลกากรสังขละบุรี
ด่านศุลกากรหนองคาย
ด่านศุลกากรอรัญประเทศ
ด่านศุลกากรแม่สอด
ด่านศุลกากรมุกดาหาร
ด่านศุลกากรคลองใหญ่
ด่านศุลกากรระนอง
และด่านศุลกากรแม่สาย

จ่อผุดเขต เศรษฐกิจ.พิเศษ 5 แห่ง
นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการนำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ใช้พื้นที่กว่า 5,600 ไร่ เริ่มตั้งแต่พื้นที่แม่ปะถึงตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด รวมทั้งจะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 บริเวณบ้านวังตะเคียน ฝั่งตรงข้ามกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีด้วย หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ แนวโน้มจะขยายไปตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีก 4 แห่ง ได้แก่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, จ.มุกดาหาร และ จ.สระแก้ว

ปีนี้นโยบายส่งเสริมการค้าควรจะยกระดับจุดผ่อนปรนสู่ด่านถาวรหลายจุด อาทิ ด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์, ด่านบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์, ด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ฯลฯ บ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย พม่า

ทั้งนี้ หอการค้าไทยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อมจัดกิจกรรมประตูการค้าด้านตะวันออก (ไทย-กัมพูชา) ภายใต้นโยบาย 3 วงแหวน 5 ประตูการค้า กำหนดหารือความร่วมมือ 6 สาขา คือ การค้า การลงทุน การเกษตร โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนภาครัฐจะเป็นการหารือร่วมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย 12 จังหวัด (ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ภาคอีสาน 4 จังหวัด) กับผู้ว่าราชการจังหวัดในกัมพูชา 20 จังหวัด 4 เทศบาล (พนมเปญ สีหนุวิลล์ ไพลิน และแกป) รวมทั้งการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) และการจัดงานแสดงสินค้าไทย-กัมพูชาด้วย

แผนรับด่านพุน้ำร้อน-ทวาย
นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เตรียมแผนรองรับการเปิดด่านพุน้ำร้อน หมู่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี สู่เมืองทวาย พม่า โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนและรายละเอียดงบฯสนับสนุน 6 เรื่อง คือ

1.การวาง ผังชายแดน เพื่อกำหนดจุดที่ตั้งศูนย์ราชการ คลังสินค้าทัณฑ์บน จุดเปลี่ยนรถหัวลาก ฯลฯ สำนักงานโยธาธิการจังหวัดรับผิดชอบ
2. ให้ศูนย์สร้างทางกาญจนบุรีสำรวจออกแบบ และกำหนดจุดเส้นทางการเข้า-ออกชายแดนที่บ้าน พุน้ำร้อน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และการลี่ยงไม่ให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะวิ่งจากกรุงเทพฯไปยังท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวายวิ่งผ่านชุมชนและกลางเมืองกาญจนบุรี
3.จัดทำระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับศูนย์ราชการ แหล่งชุมชน และอุตสาหกรรมบริเวณชายแดน
4.จัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ทางบกที่บริเวณบ้านพุน้ำร้อน และทางอากาศที่สนามบินกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ สร้างสนามบินพาณิชย์ พัฒนาสถานีรถไฟบ้านหนองตาบ่ง อ.ท่าม่วง เป็นศูนย์กระจายสินค้า
5.การพัฒนาบุคลากร
6.การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยนำต้นแบบ ecotown ในญี่ปุ่นมาใช้ และ
 7.ทหารและตำรวจทำแผนเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม


ขณะเดียวกัน ก็ให้แยกกลยุทธ์การพัฒนาจุดผ่านแดนทั้ง 2 แห่ง คือ ด่านพระเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี เป็นยุทธศาสตร์ "การค้าชายแดน" พม่าได้เปิดด่านพญาตองซูตรงข้ามด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อ 6 ธ.ค. 2553 และพัฒนาด่านพุน้ำร้อนให้เป็นยุทธศาสตร์ "การค้าผ่านแดน" ขณะนี้กลุ่มอิตาเลียนไทยเข้าดำเนินการขยายเส้นทางจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อนถึงแม่น้ำอมรา เมืองทวาย ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร แนวโน้มปลายเมษายนนี้จะเดินทางโดยรถยนต์จาก จ.กาญจนบุรีไปทวายได้

นายบุญเทียม โชควิวัฒน นายด่านศุลกากรสะเดา กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและช่องทางเข้า-ออกประเทศยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาการจราจร ซึ่งกำลังเร่งปรับปรุงโครงการขยายด่านสะเดา ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและจัดเตรียมเอกสารของการเวนคืนที่ดินจากประชาชนที่อาศัยและทำมาค้าขายบริเวณนั้น ทางจังหวัดสงขลาจึงตั้งคณะทำงานศึกษาเพื่อแก้ปัญหาว่าจะขยายไปยังพื้นที่ 700 ไร่ ขยับไปอีก 1-2 ก.ม. พัฒนาเป็นด่านขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ด่านขนส่งสินค้าและด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือจะขยายจากจุดเดิมบนพื้นที่ 19 ไร่ เพื่อช่วยลดความแออัด

พลังขับเคลื่อนรายได้จากการค้าชายแดนภายในเร็ววันนี้ให้ได้ปีละ 1.1 ล้านล้านบาท กำลังใกล้ความจริงเข้ามาทุกวัน เมื่อรัฐและเอกชนประสานความร่วมมือผลักดันเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ






 AEC RESOURCES (THAILAND) CO., LTD.
    " AEC Resources Gateway of Asean Economic Community"






1 ความคิดเห็น: